วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวไทย : คาดกระตุ้นตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยปี’56...โตเกือบร้อยละ 50

การท่องเที่ยวญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังผ่านพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมีนาคม 2554 มาได้เพียง 1 ปี จากสถิติชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น (จำแนกตามสัญชาติ) ขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization) พบว่า ในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์ฯ (มี.ค.-พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นลดลงในอัตราสูงถึงเฉลี่ยกว่าร้อยละ 50 ต่อเดือน หลังจากนั้น จึงลดลงในอัตราช้าลงมาตามลำดับ และเริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 เป็นต้นมา ทำให้ตลอดทั้งปี 2555 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 8.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.6 เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่มีจำนวน 6.22 ล้านคนลดลงร้อยละ 27.8 จากปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งไว้ คือ จำนวน 18 ล้านคนในปี 2559 และจำนวน 25 ล้านคนในปี 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องเร่งใช้มาตรการกระตุ้นการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปรับกลยุทธ์การตลาด มุ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตลาดในอาเซียน (ซึ่งมีไทยเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญอันดับ 1) และอินเดีย เพื่อทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 เป็นต้นมา และหนึ่งในมาตรการกระตุ้นดังกล่าว คือ มาตรการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวคนไทยและมาเลเซีย ที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นในระยะสั้น ซึ่งทางการญี่ปุ่นประกาศออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 และคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่น หรือประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้

โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่อนปรนมาตรการความเข้มงวดด้านวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวคนไทย ทั้งการลดระยะเวลาดำเนินการขอวีซ่าจาก 1 สัปดาห์เหลือเพียง 3-4 วัน และการลดขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยาก ล่าสุดได้พิจารณาให้วีซ่าระยะสั้นแบบเข้า-ออกได้หลายครั้ง หรือ Multiple Visa แก่นักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป

สำหรับภาพรวมของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของญี่ปุ่นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ที่ผ่านมา เติบโตร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีจำนวน 3.18 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 76.0 เป็นนักท่องเที่ยวเอเชีย

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับ 1 คือ นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ รองลงมา คือ ไต้หวัน ตามมาด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และไทย ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะที่นักท่องเที่ยวจากทุกตลาดเดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 นั้น คงมีเพียงนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ต่อเนื่องมาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556

อย่างไรก็ตาม จากความหลากหลายของสินค้าด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (ซึ่งได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น อาทิ สวนน้ำ สวนสนุก) และการส่งเสริมด้านการตลาดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับจังหวัดของญี่ปุ่น ประกอบกับภาวะค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง และมาตรการยกเว้นวีซ่ากับนักท่องเที่ยวคนไทยและมาเลเซีย เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มผู้ที่เริ่มทำงาน ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โดยรวมตลอดทั้งปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปยังญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 จากปีที่ผ่านมา

ญี่ปุ่น : ปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของคนไทย

การอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องวีซ่าเข้าประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงรายได้เข้าประเทศของญี่ปุ่น ประกอบกับความหลากหลายของสินค้าทางการท่องเที่ยว ตลอดจนเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่นในเรื่องของธรรมชาติ ภูมิอากาศ อาหาร และวิถีการดำรงชีวิตของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งแหล่งช้อปปิ้ง และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ล้วนส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวคนไทย จากสถิติการเดินทางไปต่างประเทศยังของนักท่องเที่ยวคนไทย (ที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา จากที่มีจำนวน 223,0217 คนในปี 2552

เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 เป็น 268,434 คนในปี 2553 และลดลงร้อยละ 28.8 เป็น 191,209 คนในปี 2554 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ส่งผลให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหลังผ่านพ้นเหตุการณ์สึนามิมาได้เพียง 1 ปี โดยได้แรงขับเคลื่อนสำคัญจากตลาดท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 202,015 คนในปี 2555 โดยมีการขยายตัวในอัตราสูงขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ญี่ปุ่นให้ Multiple Visa แก่นักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 (ก่อนหน้านี้ให้เฉพาะนักธุรกิจคนไทย) ประกอบกับได้แรงเกื้อหนุนสำคัญด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน จากการที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างหนักตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ต่อเนื่องมาในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวคนไทยเลือกเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่นักท่องเที่ยวคนไทย ที่ส่วนใหญ่เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้ง

คาดมาตรการยกเว้นวีซ่า...กระตุ้นคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนในปี’56

มาตรการยกเว้นวีซ่าประเภทท่องเที่ยวระยะสั้นให้กับนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้แก่นักท่องเที่ยวคนไทยแล้ว ยังลดค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่า (ค่าธรรมเนียมปกติคนละ1,655 บาท) รวมทั้งยังส่งเสริมการขยายตัวของนักท่องเที่ยวคนไทยกลุ่มจัดการเดินทางท่องเที่ยวเอง (FIT) เพราะจากความยุ่งยากและความเข้มงวดในการขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ทำให้ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวคนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในเรื่องการขอวีซ่าให้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศเองก็มีแนวโน้มที่จะลดราคาแพ็กเกจทัวร์ญี่ปุ่นลงตามค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ลดลงเพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากสินค้าด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถขายแพ็กเกจท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ทุกฤดูกาล โดยช่วงที่จะได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด คือ ช่วงที่ดอกซากุระบาน (ปลายเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของตลาดคนไทย เพราะเป็นช่วงปิดเทอมของบุตรหลานและมีวันหยุดติดกันหลายวัน) และอีกประเด็นที่สำคัญ คือ ทัวร์ญี่ปุ่นจัดเป็นทัวร์คุณภาพ ไม่มีการแข่งขันตัดราคารุนแรงเช่นทัวร์ไปบางประเทศ ทำให้ทัวร์ญี่ปุ่นเป็นเส้นทางนำเที่ยวที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีบริษัททัวร์ญี่ปุ่นบางรายก็พยายามลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยการใช้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่อสามารถปรับลดราคาแพ็กเกจทัวร์ลงให้ใกล้เคียงกับทัวร์เกาหลีใต้ที่ค่อนข้างถูก จากการใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำมาบริการลูกค้า

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีปัจจัยหลายประการที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การซื้อแพ็จเกจท่องเที่ยวก็ยังคงได้รับความนิยมในหมู่คนไทยเนื่องจากบริษัททัวร์มีความชำนาญด้านการท่องเที่ยวญี่ปุ่น โดยเฉพาะก็สามารถปรับกลยุทธ์ตามสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ฉะนั้น การใช้กลยุทธ์ร่วมมือเป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างบริษัททัวร์ด้วยกัน จะทำให้สามารถลดราคาแพ็กเกจทัวร์ลงได้ระดับหนึ่ง เพื่อเป็นจุดขายจูงใจลูกค้าให้เลือกเดินทางกับบริษัททัวร์ ทั้งนี้โดยต้องมีเรื่องการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า และการรักษาคุณภาพของการให้บริการ ควบคู่กับจุดเด่นด้านราคาด้วย เพื่อให้ลูกค้าไว้ใจและเลือกเดินทางซ้ำ ซึ่งเป็นการขยายฐานตลาดลูกค้าเดิม รวมถึงควรหาลู่ทางขยายตลาดกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น ตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เพราะเป็นตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรหลายแหล่งของไทยมีการจัดแพ็จเกจท่องเที่ยวต่างประเทศในเส้นทางยอดนิยม เพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงานที่มีผลงานดีเด่น หรือตอบแทนลูกค้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง (เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเมษายนที่เงินบาทแข็งค่ามาก) ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย แต่ด้วยการทำการตลาดอย่างเข้มข้นของรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อขยายตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับการปรับกลยุทธ์การตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าของบริษัททัวร์ของไทย หลังการยกเลิกการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทย คาดว่า ยังส่งผลกระตุ้นให้ตลาดทัวร์ญี่ปุ่นของไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก สามารถเติบโตต่อไปในช่วงครึ่งปีหลังแม้ในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าช่วงต้นปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดว่า โดยรวมตลอดทั้งปี 2556 จะมีคนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 จากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 202,015 คน และสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจนำคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นตาม โดยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท

http://www.agoda.co.th